วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ครม.ไฟเขียว4ยุทธศาสตร์ดันไทยเป็น "มหานครผลไม้โลก"


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.สัญจรอนุมัติในหลักการโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยได้อนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ในระยะที่ 1 จำนวน 80 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปีงบฯ 61 ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการผลผลิต, การบบริหารจัดการการตลาด, การวิจัยและพัฒนา, พัฒนาองค์กรและเกษตรกร และพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ นอกจากนี้ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลักดันประเทศไทยให้เป็น "มหานครผลไม้ของโลก" ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรฐานผลไม้ไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ThaiGAP และ Q-GAP ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต และเครือข่ายตลาด นำไปสู่การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าผลไม้ของไทย ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะมีผลทันทีหลังจากที่ได้ลงนามใน MOU ระหว่างกัน นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า จากศักยภาพในการเพาะปลูกผลไม้ที่มีความหลากหลายและรสชาติโดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ เมื่อผนวกเข้ากับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถยกระดับคุณภาพและราคาผลไม้ของไทยได้สำเร็จ และที่สำคัญมั่นใจว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลกได้แน่นอน เพราะมีการลงนามความตกลงที่ครอบคลุมไปถึงการเชื่อมโยงตลาดผลไม้ ระหว่างผู้ผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกและในภูมิภาคต่าง ๆ กับผู้รับซื้อ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนผลไม้มีตลาดรองรับที่แน่นอน และยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพราะใน MOU ได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพผลไม้ของไทยเอาไว้ ตลอดจนมีความร่วมมือในการรวบรวม การขนส่ง และการกระจายสินค้า ทั้งในประเทศและการส่งออกด้วย นอกจากนี้ ครม.สัญจรได้เห็นชอบแผนยุทธ์ศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร โดยมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก ภายใต้  4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1) มุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อน สดและแปรรูป ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตและการค้าผลไม้ เกรดพรีเมี่ยมและเกรดรอง และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทย
2) การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายช่องทางไปถึงตลาดออนไลน์ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตลาดชายแดน
3) สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของผู้ประกอบการค้าผลไม้ของไทย โดยจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเป็นเงินทุนให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้คุณภาพ
4) การประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้เมืองร้อนของไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งนอกจากจะมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างค่านิยมในการบริโภคผลไม้ในพื้นที่จังหวัดที่มีกำลังซื้อสูงหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว ยังต้องส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ และสร้างตราสินค้า หรือทำ Branding ด้วย

'รมช.คลัง' เตรียมชง 'พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ' เข้าสนช.

"รมช.คลัง" คาดช่วงเดือน มี.ค.จะชง "พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ" เข้า "สนช." มั่นใจมีผลบังคับใช้ในปี 2562 แน่นอน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ช่วงเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะสามารถนำร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาในวาระ 2-3 ได้อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำกฎหมายลำดับรอง ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ยังยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 อย่างแน่นอน
สำหรับในเบื้องต้นนั้น คาดว่า ในช่วง 4 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีใหม่นั้น คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่ม 10,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท จากปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บภาษีรวมบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรียนรวม 30,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีการยกเว้นภาษี หรือ ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้น การบรรเทาภาระภาษี เช่น ที่อยู่อาศัยหลักที่เจ้าของได้รับมรดกก่อนกฎหมายใช้บังคับ ทรัพย์สินของสถานศึกษาเอกชน หรือ ที่ดินที่กฎหมายห้ามทำประโยชน์บางอย่าง เช่น ห้ามสร้างอาคารขนาดใหญ่ แต่ให้ปลูกบ้านอาศัย หรือ ทำการเกษตร เป็นต้น
"ตอนนี้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯอยู่ในชั้นกรรมธิการ ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้จะเสนอให้สนช.พิจารณาวาระ 2-3 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่า ภาษีดังกล่าวจะต้องกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด ดังนั้นที่ผ่านมาจึงพิจารณากันอย่างรอบคอบ และรับฟังความเห็นหลายครั้ง โดยยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีนั้น จะทำให้กฎหมายมีความชัดเจน ลดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ด้วย" นายวิสุทธิ์ กล่าว
""

ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง

ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยว 55 จังหวัดเมืองรอง ชี้นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนครครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี 15,000 บาท มีผล 1 ม.ค.-31 ธ.ค.61


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และร่างกฎกระทรวง ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง นำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม 2561
สำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 55 จังหวัดเมืองรอง นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ประกอบด้วย ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าทัวร์ ค่าแพ็คเกจท่องเที่ยว โดยใช้หลักฐานที่เป็นใบเสร็จรับเงิน โดยไม่ต้องเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ จากร้านค้าและสถานประกอบการการท่องเที่ยวในเมืองรองมาใช้ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการกระจายรายได้ไปสู่ชนบท
สำหรับ เมืองรองใน 55 จังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ตรัง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก อุบลราชธานี หนองคาย เลย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ราชบุรี จันทบุรี นราธิวาส ยะลาและปัตตานี

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในจำนวน 55 จังหวัดที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไม่มาก จึงต้องการกระตุ้นทั้งการจัดสัมมนาและท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากบุคคลธรรมดาจะนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว นิติบุคคลก็สามารถนำไปลดหย่อนได้

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง เตรียมเปิดใช้ ก.ย.2562

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมระบุในช่วงเดือนกันยายนปีหน้า ผู้โดยสารจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ก่อน ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าของสายสีน้ำเงิน เพื่อลดปัญหาความแออัดในการให้บริการ

วันนี้ (12 ก.พ.2561) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระว่า โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างแล้วร้อยละ 97.69 โดยมีแผนเปิดให้บริการ 2 ระยะ คือระยะที่ 1 เปิดเดินรถสายใต้ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ในเดือนกันยายน 2562 และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือช่วงเตาปูน-ท่าพระ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตลอดสายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563







สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในเส้นทางนี้มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับ 15 สถานีและโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบใต้ดิน 4 สถานี ซึ่งเชื่อมต่อแบบวงกลมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน นอกจากนี้ ยังเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) ช่วงยศเส-บางหว้า ที่สถานีบางหว้า





ขณะที่สถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรได้มีการตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบจีนและยุโรป (ชิโนโปรตุกีส) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน โดยได้นำลวดลายมังกรมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งตั้งแต่การใช้ลวดลายส่วนหัวและท้องมังกรมาตกแต่งบริเวณทางลงสถานี เพดาน ชั้นจำหน่ายตั๋วสลับกับลายดอกบัวและลายประแจจีนประดับบนผนังทั้ง 2 ด้านตลอดแนวทางเดินและหัวเสาสถานี เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสนามไชยและอิสรภาพ







ทั้งนี้ ในต้นปีหน้าจะมีขบวนรถใหม่มา 3 ขบวน จากนั้นจะมีการทดสอบการเดินรถ และจะเริ่มให้บริการในเดือนกันยายนปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น จากปกติที่ให้บริการได้วันละ 300,000 คน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ยังเยี่ยมชมสถานีสนามไชย โดยมีการออกแบบเป็นท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
แหล่งข้อมูล  thai PBS

3 แบงก์รัฐพร้อมหนุนเอสเอ็มอีเกษตร

รร.รามาการ์เด้นส์ 12 ก.พ. – 3 แบงก์รัฐพร้อมหนุนเอสเอ็มอีภาคเกษตรกร  ธ.ก.ส.เตรียมเสนอบอร์ดเพิ่มวงเงินกู้ 

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในงานสัมมนา “ขับเคลื่อนสภาเกษตรกรแห่งชาติ  หัวข้อ สินเชื่อภาคเกษตรกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และองค์กรภาคเกษตร” ว่า เตรียมเสนอที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.พิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร จากเดิมปล่อยสินเชื่อต่อราย 10 ล้านบาท เพิ่มเป็น 20 ล้านบาทต่อราย เพราะหลายรายขยายกิจการต่อไปได้ดี จึงต้องการดูแลกลุ่มที่มีศักยภาพ เนื่องจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็นสำหรับเกษตรกร จึงเสนอบอร์ดขยายโครงการดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพิ่มอีกสำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีภาคเกษตร เน้นย้ำห้ามนำไปรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระเงินกู้ หลังจากที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ออกโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีภาคเกษตร คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ปี เป็นเวลา 7 ปี เมื่อเกิน 7 ปี  สำหรับลูกค้าเกษตรกร ส่วนองค์กร สหกรณ์ทางการเกษตร คิดดอกเบี้ยร้อยละ  5 เกษตรกรคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7  ตามความเสี่ยงของลูกค้าเกษตรกร   

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมโครงการสินเชื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเริ่มรายได้ เตรียมวงเงิน 45,000 ล้านบาท เน้นกลุ่มสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพราะรัฐบาลอุดหนุนภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 จึงต้องการให้กลุ่มเกษตรกรรับซื้อผลผลิตใช้ตลาดเป็นตัวนำการผลิต กำหนดโซนการเพาะปลูก เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต จากเดิมเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงประเภทเดียวและรับความเสี่ยงด้านราคาตกต่ำ เพื่อใช้การตลาดเป็นตัวนำการผลิต  
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินมุ่งเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอีภาคเกษตรผ่านโครงการสินเชื่ออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อดูแลสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตร เตรียมวงเงินปล่อยสินเชื่อเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท และพร้อมขยายเพิ่มไม่จำกัด เพราะต้องการเพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากในปีนี้  เงื่อนไขคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ปีแรก จากนั้นคิดร้อยละ 4.99 ในปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมกลุ่มที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม นอกจากนี้ แบงก์รัฐได้พยายามส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตร จัดทำบัญชีเดียว เพราะทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินพิจารณาการจัดทำบัญชีมาตรฐานเดียวเพื่อยื่นขอสินเชื่อกับแบงก์รัฐ  
นายพิชิต มิทราวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์เดินเครื่องปล่อยทีมรถม้าเร็วกระจายลงพื้นที่ให้ครบ 600 หน่วยตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อแนะนำให้ความรู้ทางการเงินเชื่อมโยงกับเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจการผลิต ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หากรายใดมีศักยภาพพร้อมปล่อยสินเชื่อหลายโครงการดอกเบี้ยร้อยละ 4 ในช่วง 7 ปีแรก เริ่มให้ยื่นขอกู้ภายใน 1 ปีนี้ .-สำนักข่าวไทย